วัคซีนโควิดเด็ก คำแนะนำ-ข้อปฎิบัติ ฉีดวัคซีนไฟเซอร์เข็มแรก เริ่ม 4 ต.ค. นี้ - hongpagkru

6 ต.ค. 2564

วัคซีนโควิดเด็ก คำแนะนำ-ข้อปฎิบัติ ฉีดวัคซีนไฟเซอร์เข็มแรก เริ่ม 4 ต.ค. นี้

 

"วัคซีนโควิดเด็ก" ด้วยวัคซีนไฟเซอร์ให้นักเรียนอายุ 12-18 ปี ที่เริ่มในวันที่ 4 ต.ค. นี้ มาดูคำแนะนำ-ข้อปฎิบัติ ฉีดวัคซีนไฟเซอร์เข็มแรก

"วัคซีนโควิดเด็ก" ด้วยวัคซีนไฟเซอร์ให้นักเรียนอายุ 12-18 ปี ที่เริ่มในวันที่ 4 ต.ค. นี้ เป็นไปตามความประสงค์ของผู้ปกครองที่ให้บุตรหลานฉีดวัคซีนไฟเซอร์กว่า 3.6 ล้านราย จากนักเรียนกว่า 5 ล้านรายทั่วประเทศ

วันที่ 1 ต.ค. นพ.เฉวตสรร นามวาท ผู้อำนวยการกองควบคุมโรคและภัยสุขภาพในภาวะฉุกเฉิน กรมควบคุมโรค บอกว่า การฉีดวัคซีนไฟเซอร์ให้กลุ่มนักเรียน มีผู้ปกครองแสดงความจำนงให้บุตรหลานฉีดวัคซีนไฟเซอร์ 3,618,000 กว่าราย คิดเป็น 71% ของตัวเลขนักเรียนทั่วประเทศ 5,048,000 ราย 

การจัดสรรวัคซีนไฟเซอร์

ล็อตแรกเข้ามาแล้ว 2 ล้านโดส จะกระจายให้ทุกจังหวัด โดยสัดส่วนวัคซีนจะพิจารณาความพร้อมของแต่ละจังหวัดด้วย และจะส่งให้ครบภายในเดือน ต.ค. ซึ่งจะมีวัคซีนไฟเซอร์เข้ามารวม 8 ล้านโดส

วัคซีนโควิดเด็ก คำแนะนำและข้อปฎิบัติ 

1.การฉีดวัคซีนไฟเซอร์ในเด็กอายุ 12 ปีขึ้นไป ฉีดจำนวน 2 เข็ม ระยะห่าง 3-4 สัปดาห์

2.เด็กประถมอายุต่ำกว่า 12 ปีที่ยังไม่อยู่ในเกณฑ์ให้ใช้มาตรการป้องกันตนเอง สวมหน้ากาก ล้างมือ เว้นระยะห่าง หากดำเนินการได้ก็ยังสามารถทำกิจกรรมการเรียนการสอนได้

3.เด็กและวัยรุ่นชายที่แข็งแรงดี ให้รับวัคซีนเข็มที่ 1 และชะลอการให้เข็มที่ 2 ไปก่อน จนกว่าจะมีข้อมูลความปลอดภัยเพิ่มเติม เพราะการฉีดเข็ม 2 ในเด็กกลุ่มนี้ มีความเสี่ยงสูงกว่าเข็มแรกจากกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบซึ่งพบน้อยมาก

4.การติดตามเฝ้าระวังอาการและความปลอดภัย กระทรวงสาธารณสุข ใช้ระบบเดียวกับผู้ใหญ่ มีการเฝ้าระวังอาการแพ้รุนแรงช่วง 30 นาทีแรกหลังฉีด และมีการติดตามอาการต่อเนื่องอีก 30 วัน

5.ข้อกังวลเรื่อง "ภาวะกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบและเยื่อหุ้มหัวใจอักเสบ" อัตราการเกิดต่ำ แต่ขอให้สังเกตอาการ ดังนี้

- แน่นหน้าอก เจ็บหน้าอก

- หอบเหนื่อยง่าย

- ใจสั่น

- หมดสติ เป็นลม หรือรู้สึกอ่อนเพลียผิดปกติ

6.หากมีอาการเหล่านี้ให้รีบแจ้งผู้ปกครอง แล้วรีบเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล เนื่องจากอาการเหล่านี้อาจเกิดจากภาวะอื่นได้ และข้อปฏิบัติภายใน 7 วันหลังฉีดวัคซีน

7.ไม่แนะนำเรื่องออกกำลังกายหนักๆ เพราะจะทำให้หัวใจต้องทำงานเพิ่มขึ้น และความรู้สึกเหนื่อยจากออกกำลัง อาจทำให้กังวลและไม่แน่ใจว่าเป็นผลจากวัคซีนหรือไม่

8.ข้อมูลจากรายงานของระบบรายงานเหตุการณ์ไม่พึงประสงค์จากวัคซีนของสหรัฐอเมริกา (Vaccine Adverse Event Reporting System - VAERS) วันที่ 1 ม.ค.-18 มิ.ย. 2564 รายงานอัตราการเกิดอาการข้างเคียงของระบบหัวใจในเด็กและวัยรุ่นชายในกลุ่มอายุ 12- น้อยกว่า 16 ปี ในอัตรา 162.2 ต่อการฉีดวัคซีนเข็มที่ 2 จำนวน 1 ล้านโดส

9.อัตราอาการข้างเคียงของระบบหัวใจในเด็กและวัยรุ่นในเด็กหญิงกลุ่มอายุเดียวกันพบในอัตราที่ต่ำกว่ามาก คือ 13 ต่อการฉีดวัคซีนเข็มที่ 2 จำนวน 1 ล้านโดส

10.ข้อมูลเรื่องการป้องกันเชื้อไวรัสทั้งในแง่สายพันธุ์และความรุนแรงหลังจากฉีดไฟเซอร์ เข็มที่ 1 และ 2 พบว่าประสิทธิภาพป้องกันสายพันธุ์เดลตาอยู่ที่ 36% หลังฉีดเข็มที่หนึ่ง และ 88% หลังฉีดเข็มที่สอง

11.ป้องกันการติดโควิดที่อาการรุนแรงต้องเข้ารักษาในโรงพยาบาล 94% หลังฉีดเข็มที่หนึ่ง และ 96% หลังฉีดเข็มที่สอง

ที่มา : ราชวิทยาลัยกุมารแพทย์แห่งประเทศไทย ฉบับที่ 3 


ขอบคุณเนื้อหาและข้อมูลข่าวจาก :: หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ วันที่ 4 ตุลาคม 2564